ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ค่ายรถยนต์จากยุโรปและเอเชียมากมายต่างยกขบวนนำรถยนต์ไฟฟ้า EV เข้ามาเปิดตัวในไทยอย่างต่อเนื่องทั้งรถ BEV หรือ PHEV มากมายหลายรุ่นหลายยี่ห้อ และด้วยกระแสราคาน้ำมันแพงในยุคนี้ และเทรนด์การรักษ์โลกใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมยิ่งทำให้ผู้ใช้งานในไทยเกิดความสนใจกับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่หลายคำถามก็ยังกังวลเกี่ยวกับการใช้งานทางไกล การเดินทางข้ามต่างจังหวัดจะมีสถานีชาร์จเพียงพอหรือไม่ ภาครัฐผลักดันอย่างไร ส่งเสริมการสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้บริโภคหันมาสนใจ EV มากน้อยแค่ไหน
สารบัญเนื้อหา
รัฐจัดแผนกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ในไทยภายใน 5 ปี
ทางภาครัฐได้เสนอแผนกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ภายใน 5 ปี มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อ เสนอให้มีการวางแผนเตรียมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และยังได้ส่งเสริมจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ บริหารจัดการซากแบตเตอรี่ภายหลังจากการใช้งานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มาตรการกระตุ้นใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังช่วยส่งเสริมให้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่จากรถ EV ที่ใช้งานแล้ว โดยให้ความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด และส่งเสริมการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
นโยบายกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย
- รถยนต์ EV ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท รับส่วนลด 500,000 บาท
- รถยนต์ EV ราคาสูงกว่า 2 ล้านบาท รับส่วนลด 700,000-800,000 บาท
การสร้างระบบ Ecosystem ในไทยเพื่อให้ผู้ใช้งานมั่นใจ
ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีผู้กล้าใช้รถยนต์ EV เพราะเนื่องจากปัญหาด้านการรองรับการใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดการชาร์จพลังงานที่เพียงพอ ที่ต้องขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และให้มีจำนวนมากกว่านี้ รวมไปถึงการซ่อมบำรุงรักษา ที่ปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอรองรับ และใช้เวลาในการส่งซ่อมที่นานกว่ารถยนต์ทั่วไป หากแก้ส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้คาดว่าผู้คนจะไว้วางใจการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและประชาชนในการตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ EV นั้น ระบบด้าน Ecosystem ในประเทศไทยจะต้องแข็งแกร่งก่อน ซึ่งตอนนี้มีหลายยี่ห้อรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และกำลังอยู่ระหว่างการสร้าง Ecosystem ให้กับกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะต้องพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาวให้เกิดความมั่นใจในการใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้การสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ที่แข็งแกร่งจะต้องมี 4 ส่วนหลัก ดังนี้
ส่วนประกอบในการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าให้แข็งแกร่ง
- การพัฒนา นำเสนอผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าให้มีความหลากหลาย สอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้งาน ความต้องการแต่ละกลุ่มลูกค้า เพิ่มความสะดวกกับเทคโนโลยี V2L ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ก็สามารถใช้รถ EV จ่ายไฟกลับคืนได้
- การพัฒนาจัดการแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การวิจัยเกี่ยวกับวิธีการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
- สร้างและขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ จุดให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เน้นอำนวยความสะดวก สร้างความมั่นใจในการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาความกังวลในระยะทางการใช้งานต่อการชาร์จเต็มหนึ่งรอบ โดยทุก 150 กิโลเมตร จะต้องวางแผนให้มีเครือข่ายสถานีชาร์จ 1 แห่ง เป็นอย่างน้อย ได้รับความร่วมมือจาก PEA, บางจาก และ EGAT เพื่อขยายสถานีชาร์จกว่า 500 แห่ง
- เน้นสร้างความรู้พื้นฐาน ความเข้าใจในตัวรถยนต์ EV กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญช่วยผลักดันสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และร่วมกำหนดมาตรฐาน EV ในอนาคต
รถยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงง่าย ใช้ง่ายกว่าที่คิด
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ในยุคนี้ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกก็ใช้อย่างแพร่หลายในระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งในประเทศไทยเองนั้นกำลังจะเข้ามาทำการตลาดและเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากราคาที่ผู้ใช้งานเอื้อมถึง ระบบการใช้งานที่ออกแบบและปรับปรุงมาให้ใช้ง่าย และเข้ากับการใช้งานภายในประเทศไทยได้ดีขึ้นกว่ารถยนต์ EV รุ่นแรกๆ ที่ได้มีการนำเข้า
สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของยานยนต์ไฟฟ้า คือ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้น้ำมันที่สอดรับกับกระแสราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงในช่วงนี้ เมื่อ Ecosystem ในไทยแข็งแกร่งและเติบโตมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้เกิดการกระตุ้นซื้อจากผู้บริโภคอย่างแน่นอน ถึงตอนนั้นผู้คนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น และเกิดตลาดการแข่งขันที่ส่งผลดีต่อตัวผู้บริโภคเอง เพราะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น ในราคาที่ถูกลงและเข้าถึงง่ายอีกด้วย
หากราคารถ EV ถูกลง ผู้ซื้อต้องโฟกัสอะไรบ้าง
- ระบบไฟฟ้าของรถ โดยหากใช้ AC จะเป็นกระแสสลับ เน้นการชาร์จไฟบ้านโดยติดตั้ง Wall Charger และ DC เป็นกระแสตรงที่ต้องชาร์จผ่านสถานีชาร์จเท่านั้น
- อัตราระยะทาง ค่าหน่วยพลังงานไฟฟ้า โดยคำนวณหน่วยต่อระยะทาง จากการนำค่าไฟตั้ง หารด้วยระยะทางที่วิ่งได้
- หัวชาร์จเสียบนอกสถานที่และ EV Station รู้จักหัวชาร์จแต่ละแบบเพราะบางรุ่นมีหัวชาร์จไม่เหมือนกัน ก่อนซื้อให้ดูว่าใช้หัวชาร์จแบบไหนบ้าง
- ระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้า ก่อนซื้อจะต้องดูสเปก ขนาดอุปกรณ์เก็บประจุไฟฟ้า สามารถรองรับแรงอัดชาร์จไฟได้มากน้อยแค่ไหน หากรับได้สูงจะช่วยให้ชาร์จได้เร็วยิ่งขึ้น
ผลักดัน Ecosystem เพื่อการใช้งานที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เนื่องจากการช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว แถมยังช่วยลดมลภาวะได้ดีทีเดียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกผลักดันมาโดยตลอด แม้ว่าสถานีชาร์จไฟอาจมีจำนวนที่ยังไม่ครอบคลุมการใช้งาน และระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จที่สั้น กินเวลาชาร์จนานกว่ารถเติมน้ำมันทั่วไป ซึ่งก็ยังคงเป็นอุปสรรคในการเติบโตของรถ EV ที่ยังคงต้องมีการพัฒนากันต่อไป
อย่างที่ได้ระบุไว้มาโดยตลอดว่าเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นการสร้าง Ecosystem จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ใช้งานแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้แข็งแกร่งและเติบโตมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในไทย